การเข้ามาทำงานของ ธมอ.

logo_fma

คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ หรือ ซิสเตอร์ซาเลเซียน เป็นคณะนักบวชหญิงที่ตั้งขึ้นโดยนักบุญยอห์น บอสโก และนักบุญมาเรีย โดมีนิกา มัสซาแรลโล ที่ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.1872 โดยดำเนินชีวิตร่วมกันเพื่อกระทำภารกิจเดียวกัน นั่นคือ ให้การอบรมเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่ยากจน ถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความต้องการการพัฒนาในทุกด้าน ให้เติบโตขึ้น เป็นศาสนิกชนที่ดี และพลเมืองที่สุจริต จึงได้ก่อตั้งโรงเรียน ศูนย์เยาวชน ศูนย์ฝึกอาชีพ และหอพักหญิง เพื่อตอบสนองความต้องการของการศึกษา ขณะเดียวกันก็เอื้อให้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เสนอแนะให้เยาวชนได้เปิดใจสู่สังคม ร่วมใจกันยกระดับวัฒนธรรมที่สร้างเสริมความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยความช่วยเหลือของคณะครูและผู้ปกครอง ตามรูปแบบของการอบรมของผู้ตั้งคณะ นั่นคือ “ระบบป้องกัน”

fma1 fma2

คณะได้แผ่ขยายกิจการไปทั่วประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส อเมริกาใต้ ฯลฯ อันเป็นเจตนารมณ์ ของผู้ตั้งคณะ ที่ประสงค์ให้เป็นคณะนักบวชนานาชาติ มีศูนย์กลางอยู่ที่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.1931 ซิสเตอร์ต่างชาติรุ่นแรก 5 คน ได้เดินทางมาจากประเทศอิตาลี เข้ามาในประเทศไทย และพักอยู่ที่ อ.บางนกแขวก จ.สมุทรสงคราม อันสถานที่ที่ต้องประสบกับความยากลำบากมากมายเนื่องจากความแตกต่างด้านความเป็นอยู่ อาหารการกิน และประเพณีวัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องภาษา แต่ทุกคนสามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีความสุข

fma3 fma4

ในปี 1939 ได้ย้ายมาเปิดบ้านศูนย์กลางของคณะที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเรียกชื่อในปัจจุบันว่า “โรงเรียนนารีวุฒิ” เปิดสอนนักเรียนหญิงไปกลับและรับนักเรียนประจำ โรงเรียนพร้อมให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจน โดยหาทุนการศึกษาจากบรรดาศิษย์เก่า และผู้มีอุปการคุณต่าง ๆ

fma5 fma6

8 ปีต่อมา ได้ไปเริ่มงานในโรงเรียนสอนคนตาบอด ที่พญาไท กรุงเทพฯ ซึ่งก่อตั้งโดยสตรีชาวอเมริกันที่ตาบอด และอาศัยชีวิตที่เสียสละของซิสเตอร์โรส มัวร์ ชาวไอรแลนด์ ได้ดำเนินกิจการเป็นระยะเวลา กว่า 30 ปี

fma7 fma8

จนกระทั่ง ปี 1980 ได้แยกไปเปิดศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดที่สามพราน เพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่เยาวชนหญิงตาบอดโดยเฉพาะ ให้การสนับสนุนการเรียน กศน. เพิ่มพูนความรู้และความสามารถที่จะทำให้ออกสู่ชีวิตสังคมภายนอกได้อย่างสมศักดิ์ศรีและมีคุณภาพ

fma9 fma10

ในปี 1950 ซิสเตอร์ 3 ท่าน ได้เดินทางไปภาคใต้เพื่อเปิดกิจการโรงเรียน ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นอกเหนือจากงานโรงเรียน มีการเยี่ยมเยียนชาวย่านสลัม บริจาคสิ่งของต่าง ๆ แก่ผู้ที่ต้องการอันเป็นโครงการทั้งระดับหมู่คณะและระดับโรงเรียน

fma11 fma12

ต่อมาในปี 1960 ได้ซื้อที่ดินและบ้านที่กรุงเทพฯ เพื่อปรับให้เป็นสำนักงานกลางคณะในประเทศไทย โดยทำกิจการหอพักสำหรับหรับเยาวชนหญิงที่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งต้องการเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯพร้อมกันไปด้วย

fma13 fma14

ทางภาคอีสาน ในปี1961 พณฯสังฆราช ดูฮาร์ต บาทหลวงคณะพระมหาไถ่ได้เชิญซิสเตอร์ ไปดำเนินกิจการที่บ้านเด็กกำพร้า เปิดโรงเรียนในตัวเมืองอุดรธานี จึงได้เริ่มด้วยการดูแลเด็กกำพร้า ภายหลังได้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อช่วยเยาวชนหญิงที่ด้อยโอกาส ให้เรียนรู้การตัดเย็บ และการศึกษาสายสามัญ โดยให้ที่พักอาศัยและโภชนาการและให้การอบรมในด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย

fma15 fma14

ทางภาคอีสาน คณะซิสเตอร์ยังได้เปิดกิจการโรงเรียน เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ที่อำเภอบ้านดุง อุดรธานี ได้รับกิจการโรงเรียนต่อจากคณะนักบวชพื้นเมือง ชื่อว่า “โรงเรียนวิสุทธิวงศ์โพนสูง” เป็นโรงเรียนของหมู่บ้านโพนสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวยากจนและต้องการการพัฒนาในทุกด้าน นักเรียนทั้งชายหญิงจำนวน กว่า 500 คน เรียนโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียน และต้อง จัดโครงการอาหารกลางวันเพิ่มเติมเพื่อให้พวกเขาได้รับอาหารที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนและการเติบโตของพวกเขา

fma15 fma14

ห่างออกไป 4 กม. ในอำเภอบ้านดุง ซิสเตอร์ได้ดูแลบริหารโรงเรียนอนุบาลอีก 1 แห่ง

fma15

ส่วนในตัวเมืองจังหวัดเลย และจังหวัดหนองคายที่อำเภอบึงกาฬ ก็ได้มีกิจการโรงเรียนเช่นกัน ซึ่งในทุกโรงเรียน จำเป็นที่จะต้องจัดโครงการหาทุนเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ จากบรรดาศิษย์เก่าของโรงเรียนต่าง ๆ ของเรา ผู้มีอุปการคุณ และญาติพี่น้องของซิสเตอร์ชาวต่างชาติของเรา

fma15 fma14

สุดท้าย คือในปี 1999 เราได้เห็นความต้องการที่พักอาศัยของเยาวชนที่ต้องการเข้ามารับการศึกษาในตัวเมืองอุบลราชธานี จึงได้เปิดหอพักหญิงขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เด็ก ๆและเยาวชนจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียน ฝึกฝนตนในความเป็นสตรี การดูแลรักษาบ้าน การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลา และร่วมกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ

fma15 fma14