ประวัติย่อของ มิสเยเนวีฟ   คอลฟิลด์

    		มิส เยเนวีฟ คอนฟิลด์ เกิดที่เมืองซัฟฟอล์ค ในรัฐเวอร์จิเนีย เมื่อ 8 พฤษภาคม 1888 หลังจากนั้นสองเดือน ได้ประสบอุบัติเหตุโดยมี
   	  ผู้หนึ่งเผลอทำน้ำยาเคมีอย่างหนึ่งหกรดเข้าที่หน้าและดวงตาทั้งสองข้าง ซึ่งทำให้ต้องเสียสายตาทั้งคู่ไปในที่สุด โดยที่แม้แต่จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
   	  ก็ไม่อาจช่วยอะไรท่านได้
    		 แววของความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ที่ท่านยังเล็กๆ เมื่อท่านอยากจะทำอะไรด้วยตัวเองโดยไม่อยากให้ใคร
 	 มาช่วยโดยไม่จำเป็น ท่านได้เริ่มรับการศึกษาเบื้องต้นอย่างจริงจังที่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพอร์กินส์ในเมืองบอสตัน และในวิทยาลัยทรีนิตี คอลเลจ 
 	 ที่วอชิงตัน ดี.ซี. แล้วได้จบจากวิทยาลัยครู และจบจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แห่งนิวยอร์คตามลำดับ ในขณะที่ความปรารถนาใฝ่ฝันของท่านที่จะ
  	  	 เดินทางไปยังโลกซีกตะวันออกโดยเฉพาะญี่ปุ่น  เพื่อเป็นครูสอนหนังสือ  และเพื่อสร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างชาวอเมริกันและญี่ปุ่น
	ให้ดียิ่งขึ้นยังคงกระตุ้นเตือนท่านอยู่ตลอดเวลา สาเหตุก็เนื่องมาจารการที่เด็กๆ ญี่ปุ่นถูกรังเกียจและถูกกีดกันไม่ให้เข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ ฐานที่บิดา
	มารดาของพวกเขาเป็นขนชาติญี่ปุ่น ผู้มีนโยบายการเมืองที่น่ารังเกียจในสมัยนั้น ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นการลงโทษเด็กเหล่านั้นอย่างไม่ยุติธรรม เพราะมันไม่ใช่
     	ความผิดของพวกเขา และท่านจะต้องไปแก้ภาพพจน์อันมิชอบนี้ในประเทศดังกล่าวให้จงได้
    
	 	ในการเตรียมตัวไปทำงานที่ญี่ปุ่น ท่านได้ทำการสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษา ข้าราชการและนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นในสหรัฐฯอยู่เป็นเวลา
     	7 ปี พร้อมกับเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นไปด้วยในตัวเมื่อพร้อมแล้วในปี 1923 ท่านก็ได้เดินทางไปญี่ปุ่นแต่ลำพังด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง อาศัยความ
     	ช่วยเหลือแนะนำจากบรรดามิตรสหายของท่าน เป็นต้นชาวญี่ปุ่นที่ได้รู้จักกับท่านนั่นเอง
     	
		ท่านเจริญชีวิตอยู่ในกรุงโตเกียว ในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษ และในฐานะเป็นนักศึกษาของสถาบันการศึกษาสังคมและการเมืองญี่ปุ่น
	 แต่ก็ได้เดินทางไปยังเมืองอื่นๆ ของญี่ปุ่นด้วย เพื่อสร้างสรรค์มิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างชนชาติทั้งสองให้ดียิ่งขึ้น ในระยะต่อมา
	ที่กรุงโตเกียวนี้เอง ท่านได้รับ ฮารุโกะ เด็กหญิงชาวญี่ปุ่น มาเป็นบุตรบุญธรรมและส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาและวิชาช่างตัดเสื้อผ้าชั้นสูง
	จากครูสอนชาววฝรั่งเศสด้วย ต่อมาท่านก็มีโอกาสได้พบปะกับข้าราชการกและนักเรียนไทยบางท่าน ทำให้ทราบถึงสถานภาพของคนตาบอด
	ในประเทศไทยที่ยังไม่เคยมีใครดำเนินการช่วยเหลือในด้านการศึกษาให้แก่พวกเขาอย่างจริงจัง
     		
		ยิ่งในปี 1936 ที่โดเกียว เมื่อท่านได้รับคำแนะนำจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกรทรวงมหาดไทยสมัยนั้นว่าควรจะ
	มาทดลองเปิดโรงเรียนสอนคนตาบอดดู เพราะมีทางเป็นไปได้มาก ก็ยิ่งทำให้ท่านเกิดความสนใจที่จะมายังประเทศไทยให้ได้ แต่บุคคลที่มีค่าและ
	เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยแหม่มอย่างใจกว้างขวางและเสียสละนั้น ก็คือ คุณหมอฝนทอง  แสงสิงแก้ว  จิตแพทย์และนักจิตวิทยาแห่งโรงพยาบาล
	สมเด็จเจ้าพระยา ผู้มีชื่อเสียงนั่นเอง ตอนที่แหม่มพบกับท่านที่กรุงโตเกียวนั้น ท่านเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าว เดินทานไปดูงาน
	ด้านการรักษาโรคจิตที่นั่นซึ่งทำให้แหม่มได้รู้ถึงสถานการณ์เกี่ยวกับคนตาบอดในเมืองไทยเป็นอย่างดี และยังได้รับคำมั่นสัญญาจากคุณหมออีกว่า 
	ท่านยินดีจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หากว่าแหม่มจะดำเนินการตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นในประเทศไทย
    
	 ดังนั้น ท่านและฮารุโกะ จึงเดินทางมาดูลาดเลาที่กรุงเทพ โดยได้รับการต้อนรับจากคุณหมอเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองใน
	ประเทศไทยขณะนั้น ไม่อำนวยให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ช่วยอะไรได้ในอันที่จะให้รัฐบาลช่วยแหม่ม  แหม่มจึงดินทางกลับญี่ปุ่น แต่ก็ได้ตั้งใจไว้
	ว่าจะกลับมาช่วยเด็กตาบอดเมืองไทยให้ได้ แม้ด้วยทุนรอนและด้วยลำแข้งของตนเอง
     
		แหม่มคอลฟิลด์ทำงานต่อไปในญี่ปุ่นจนถึงปี 1973 แล้วท่านพร้อมกับมารดา และฮารุโกะ จึงเดินทางไปอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่น
	กำลังใช้นโยบายและกำลังรุกรานประเทศใกล้เคียง ซึ่งทำให้สหรัฐไม่พอใจญี่ปุ่น มารดาของท่านไปอาศัยอยู่กับเฮนรี น้องชาย ขณะที่ฮารุโกะ 
	ศึกษาต่อด้านงานสอนคนตาบอดที่ โอเวอร์บรู๊คและที่ไลท์เฮาส์ แหม่มคอลฟีลด์ก็ใช้หนึ่งปีครึ่ง ตระเวนแสดงปาฐกถาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น 
	เป็นต้นตามมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ รวมทั้งสอนภาษาอังกฤษ อันเป็นผลให้ท่านสามารถรวบรวมเป็นทุนเบื้องต้นได้บ้างพอสมควร ท่านกับ
	ฮารุโกะจึงได้ออกเดินทางทางน้ำจากสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 1938ไปขึ้นที่ประเทศอังกฤษ แล้วไปต่อยังฝรั่งเศสและอิตาลี ที่กรุงโรม ท่านได้
	เข้าเฝ้ารับพระพรจากสมเด็จพระสันตะปาปา แล้วลงเรืออีกลำหนึ่งที่เมืองเนเปิล มาขึ้นที่สิงคโปร์ จากนั้นก็เดินทางโดยรถด่วนเข้ามาถึงกรุงเทพ 
	ในตอนปลายปี 1938 นั้นเอง
     
		และแล้ว แหม่มคอลฟิลด์ ก็ได้เริ่มกิจการของท่านด้วยการติดต่อ วางรากฐาน และให้การศึกษาแก่เด็กตาบอดขึ้นทันที โดยจัดตั้งขึ้น
	เป็นมูลนิธิและโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้น ซึ่งในการนี้ แหม่มคอลฟิลด์ ได้พูดถึงคุณหมอฝนทอง ม.ร.ว.หญิงพินทุเลขา  คณะกรรมการมูลนิธิฯ 
	บรรดาครูอาสาสมัคร และท่านอื่นๆซึ่งได้มีบทบามช่วยเหลือท่านมากในตอนแรก โดยเฉพาอย่างยิ่งคุณหมอฝนทอง และดังนี้โรงเรียนสอนคนตาบอด 
	หลังแรกก็ได้อุบัติขึ้นที่บ้านหลังเล็กๆ ในซอยศาลาแดงย่านสีลม ในวันที่ 2 มกราคม 1939 เป็นการเริ่มท่านกลางความลำบากและอุปสรรคต่างๆ เพราะ
	ทั้งฝ่ายรัฐบาลและประชาชนทั่วๆ ไปในขณะนั้น สำหรับประเทศไทยแล้วเห็นว่าการให้การศึกษาแก่คนตาบอดเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่น่าจะทำอะไรได้มากนัก 
	จึงไม่สู้สนใจและส่งเสริมพัฒนาสมรรถภาพในตัวของพวกเขา แต่แล้วเมื่อแหม่มคอลฟิลด์ และนักเรียนตาบอดรุ่นแรกๆ ได้พิสูจน์ความสามารต่างๆ 
	ออกมาต่อหน้าประชาชนเป็นต้นในงานฉลองใหญ่ๆ ที่จัดขึ้นในนามของบ้านเมือง ความสนใจและทัศนคติที่ถูกต้องต่อคนตาบอดก็ได้เริ่มจุดประกาย
	สว่างไสวขึ้น และได้รับความอุปการะช่วยเหลือมากขึ้นจากฝ่ายประชาชนและที่สำคัญคือจากรัฐบาล
     
		ต่อมา  ฮารุโกะ บุตรีบุญธรรม ผุ้ได้แต่งงานกับนายโนบุ ทหารหนุ่มนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ชาติเดียวกัน ได้เกิดเสียชีวิตไป หลังจากที่ให้กำเนิด
	บุตรชายหญิงฝาแฝด ทิ้งทารกไว้ในความอุปการะของบิดาและในการเลี้ยงดูของแหม่มต่อมา ซึ่งในภายหลังฝาแฝดคู่นี้ได้เดินทางไปอยู่ที่ญี่ปุ่นกับบิดา 
	ผู้ซึ่งจะแต่งงานใหม่กับท่านหญิงแมรี่ วิสาขา และจะตั้งรกรากเจริญชีวิตอยู่ที่นั่นท่านหญิงผู้นี้เองที่ได้เป็นกำลังสำคัญของแหม่มคอลฟีลด์ ในการสอน
	อบรมนักเรียนและอยู่กับนักเรียนตาบอดต่อจากฮารุโกะผู้ล่วงลับ จวบจนเวลาเดินทางไปญี่ปุ่นดังกล่าวแล้ว
     
		แม้จะเป็นเวลาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้กิจการของท่านต้องฝ่าฝันอุปสรรคหลายประการ เป็นต้นในด้านปัญหาเศรษฐกิจของ
	โรงเรียน แต่แล้วในปี 1943 สมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงครม เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งท่านนายกฯ และท่านผู้หญิงละเอียด   พิบูลสงคราม ภริยาของท่าน
	เป็นผู้ที่สนใจในงานการศึกษาและการแสดงของเด็กนักเรียนตาบอด เมื่อได้เห็นผลอันดีจากโรงเรียนก็ได้ดำเนินการให้รัฐบาลช่วยให้เงินอุดหนุนทุกปี
	ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
     
		ปลายมี 1943 เพื่อความปลอดภัยจาการทิ้งลูกระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตลงในกรุงเทพฯ  แหม่มได้ติดต่อกับทางนักบวชคณะซาเลเซียนของ
	นักบุญยอห์นบอสโก ย้ายเด็กๆ ทั้งหมดไปอยู่ชัวคราวที่วัด และโรงเรียนคทอลิก ที่ ต.บางตาล อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี แต่เนื่องจากสถานที่และการคมนาคม
	ไม่สู้สะดวก ในไม่ช้าก็ติดต่อได้ที่อยู่ใหม่ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับพระราชวังไกลกังวล จึงพานักเรียนไปอยู่ที่นั่น จนถึงปี 1945 ทั้งหมด
	ก็ได้ย้ายกลับไปกรุงเทพ เพราะสงคราม สิ้นสุดลงแล้วจากนั้นกิจการของโรงเรียนและงานของมูลนิธิก็ดำเนินไปด้วยดี นักเรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสถานที่
	และบ้านเช่าแห่งใหม่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหลังแรกที่ซอยศาลาแดงนั้นเอง
     
		เนื่องจาก มิสเยเนวีฟ คอลฟีลด์ จำต้องวางมือจากงานเพื่อเดินทางไปญี่ปุ่นพร้อมกับท่านหญิงแมรี่ผู้จะเข้าพิธีสมรสที่นั่นและเพื่อเยี่ยมบรรดา
	มิตรสหายที่นั่นด้วย ท่านจึงได้ติดต่อขอซิสเตอร์ซาเลเซียน ธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ มาช่วยรับการปกครองดูแลนักเรียนสืบจากท่านนับแต่ปี 1947 เป็นต้นไป 
     		ระหว่างที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ท่านสอนภาษาอังกฤษ และก็ศึกษางานสังคมวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นหลังสงคราม ในคอลเลจ 
	อ๊อฟ โซเชี่ยล เวอร์ค ที่โตเกียวพร้อมกันไปด้วย จากนั้นท่านก็เดินทางไปอเมริกา ท่านได้กลับมายังประเทศไทยในปี 1952 โดยพักอยู่ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด 
	ถนนราชวิถีในเนื่อที่ ประมาณ 8 ไร่ ที่รัฐบาลจัดหาให้ ตั้งแต่เมื่อจบสงครามใหม่ๆ และยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน 
    
		 ณ ที่แห่งนี้ ท่านยังคงช่วยสอน เด็กๆ บ้าง และอยู่ในฐานะเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายโรงเรียนและมูลนิธิ ซึ่งกำลังเจริญเป็นปึกแผ่น ประกอบด้วย
	คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีชื่อเสียงซึ่งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพติดต่อกันเรื่อยมา แม้จะเริ่มทีอายุมากแล้ว ก็ยังพยายามช่วยในงานของสถาบันกุศล
	แห่งนี้ เท่าที่ทำได้ เช่นในการติดต่อ ส่งเด็กนักเรียนไปศึกษาต่อในขั้นอุดมศึกษา และในต่างประเทศ เป็นต้น 
     
		ในปี 1956 แหม่มคอลฟีลด์ โดยได้รับคำเชื้อเชิญจากประธานาธิบดีแห่งเวียดนามใต้ ได้เปิดโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นที่นั่น ในปี 1958 
	และดังนี้ ท่านก็ต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างประเทศไทยกับเวียดนามอยู่บ่อยๆ และยังต้องเดินทางไปญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นครั้งคราวอีกด้วย ในระหว่าง
	นี้เองที่ท่านได้ลงมือเขียนชีวประวัติและงานของท่านภายใต้ชื่อเรื่องว่า "The Kingdom Within" ซึ่งจัดพิมพ์ออกเผยแพร่โดยบริษัท ฮารเปอร์ แอนด์ 
	ปราเดอร์ส นิวยอร์ค (ได้ถูกจัดแปลและพิมพ์ภายใต้ชื่อเรื่องเป็นภาษาไทยว่า "อาณาจักรภายใน" ต้นปี 1989)

    		 ปี 1960 ท่านได้เริ่มงานสอนคนตาบอดขึ้นที่เชียงใหม่ ซึ่งภายหลังก็ได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินงานค่อไป ในปีเดียวกันนี้เอง 
	ท่านได้รับเครื่องประดับเชิดชูเกียรติคุณ จากรัฐบาลญี่ปุ่นในฐานะที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนโดยเสริมสร้างมิตรภาพอันดียิ่งขึ้นระหว่าง
	อเมริกาและญี่ปุ่น

     		ปี 1961 ท่านได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศจากมูลนิธิ รามอน แม็กไซไซ แห่งฟิลิปปินส์

     		ปี 1963 ท่านได้รับเหรียญประกาศเกียรติคุณ เมดัล อ๊อฟ ฟรีดอม ของสหรัฐฯ จากประธานาธิบดีแห่งสหรัญอเมริกา ในฐานะชาวอเมริกัน
	ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ชาวโลก

     		ปี 1965 ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก จากพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ในฐานะผู้ทำความดีแก่
	คนพิการตาบอดด้วยความเสียสละอุทิศตนอย่างแท้จริง

    		 และในปี 1969 ท่านได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ งานด้านสวัสดิการสังคม ชั้น 1 จากรัฐบาลเวียดนามใต้อีกด้วย
 
     		ในระยะหลังๆ แห่งชีวิตของท่าน มิสเยเนวีฟ คอลฟีลด์ เป็นบุคคลที่ใครๆ ก็รู้จักกันดีที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ถนนราชวิถีในฐานะผู้ริเริ่ม
	การศึกษาเพื่อคนตาบอดขึ้นในประเทศไทย สอนและอบรมเอาใจใส่ให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถที่จะช่วยตัวเองได้ โดยส่งเสริมให้เรียนต่ออไปใน
	ขั้นสูงตามความสามารถและสติปัญญาถึงขั้นมัธยม และอุดมศึกษา หรือไปศึกษาต่างประเทศ หรือไม่ก็ให้หันไปฝึกวิชาชีพที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด ปากเกร็ด 
	นนทบุรี ซึ่งในปัจจุบันชื่อว่า"ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด"

    		 มิสคอลฟีลด์ จากประสบการณ์ของท่านเอง เชื่อมั่นว่าคนตาบอดสามารถรู้จักดำเนินชีวิตทำนองคนตาดีได้ หรืออาจดีกว่าในบางกรณีด้วย
	ซ้ำไป ดังนั้นอุดมการณ์ของท่านจึงมุ่งส่งเสริมพัฒนาความรู้ความสามารถของคนตาบอดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อในอนาคตของเขา เขาจะช่วย
	ตัวเองและครอบครัวของเขาได้โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระแก่คนอื่นและสังคม  และยังจะทำประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติได้ด้วย จึงสอดคล้องกับ
	คำขวัญของศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ปากเกร็ด นนทบุรี  ที่ให้คติเตือนใจแก่ประชาชนทั่วไปว่า "ความสามารถอยู่ที่เขา เราช่วยกันพัฒนา"

   		  แหม่ม คอลฟีลด์ ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลคามิลเลียน สุขุมวิท กรุงเทพ ด้วยโรคชราภาพ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1972  ขณะอายุได้ 84 ปี  
	แม้ว่ามิสเยเนวีฟ คอลฟีลด์ จะได้ล่วงลับไปนานแล้ว แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณความดีของแหม่ม ในฐานะผู้บุกเบิกริเริ่มให้กำเนิดการศึกษาคนตาบอดในประเทศไทย 
	ด้วยความเสียสละอุทิศตน จะยังคงเป็นที่ยกย่องกล่าวขวัญและรับรู้กันต่อไปอีกนานเท่านาน
		
				ย.เกียรติศักดิ์      รวบรวม
		
				ย้อนกลับ