ประเภท ชนิด ความสำคัญ

ประเภทและชนิดของไม้เท้า
ไม้เท้าขาวมีหลายชนิด และทำจากวัสดุที่แตกต่างกัน ไม้เท้าที่ดีควรมีน้ำหนักเบา แข็งแรง และมีความยืดหยุ่น (เมื่อโค้งหรืองอขณะใช้แล้วคืนรูปเอง) ความยาวของไม้เท้าจะไม่เท่ากัน จะยาวเท่าไรขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าสูงเท่าไร ก้าวยาวหรือสั้น และช่วงไหล่กว้างหรือแคบ แต่ขนาดมาตรฐานที่ใช้ทั่วไป คือ ควรสูงจากพื้น ถึงลิ้นปี่ของผู้ใช้ ไม้เท้าที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ 1. ไม้เท้ายาว ทำจากไม้ไผ่ หวาย อลูมิเนียม มีราคาถูกและทนทาน แต่คนพิการไม่ชอบใช้เพราะไม่สวย 2. ไม้เท้าพับได้ ทำจากอลูมิเนียม มีตั้งแต่สามท่อนถึงเจ็ดท่อน แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ 4 ท่อน ไม้เท้าชนิดนี้ราคาค่อนข้างแพง คงทนน้อยกว่าไม้เท้ายาว แต่คนพิการชอบใช้เพราะสวยและสะดวก การเลือกใช้ไม้เท้าชนิดใดไม่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือจะต้องใช้ไม้เท้าด้วยวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งผู้ใช้ต้องได้รับการเรียนรู้จากครูที่ได้รับการฝึกฝนวิธีการสอน ใช้ไม้เท้ามาโดยตรงมิฉะนั้นแล้วนอกจากไม้เท้าจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองอีกด้วย ความสำคัญ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เกิดมีเหยื่อสงครามเป็นจำนวนมากที่รอดพ้นจากการเสียชีวิต แต่ต้องกลายเป็นคนพิการซึ่งรวมถึงผู้ที่กลายเป็นคนตาบอด ด้วยสถานการณ์เหล่านี้ได้เพิ่มแรงกดดันให้คนตาบอดต้องพยายามเอาชนะต่อปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากยิ่งขึ้น ในที่สุดก็มีคนตาบอดค้นพบวิธีใช้สื่อแทนตาโดยการ นำไม้มาถือขณะเดินเพื่อเขี่ย เคาะ และแกว่งนำทางไปด้านหน้า ซึ่งไม้นี้จะสัมผัสกับสิ่งกีดขวางต่างๆ ขณะที่ปลายของไม้ก็จะสัมผัสถึงความแตกต่างของระดับพื้น ทางเดิน ทั้งหมดนี้จะช่วยป้องกันอันตรายจากการที่คนตาบอดมักต้องชนกับสิ่งกีดขวาง หรือสะดุดหกล้ม เนื่องจากความต่างระดับของพื้นทางเดิน ในปี พ.ศ.2464 เจมส์ บิคส์ ชาวเมือง บริสทอล ในประเทศอังกฤษ ซึ่งตาบอดเนื่องจากอุบัติเหตุพบว่าเขาและคนตาบอดอื่นๆ ในเมืองบริสทอลต้องเสี่ยงอันตรายมากขึ้นในการเดินทาง เนื่องจากสภาพการจราจรที่แออัดคับคั่งเพิ่มมากขึ้น เขาจึงได้นำสีขาวมาทาที่ไม้เท้าเพื่อให้ผู้อื่นสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่กำลังขับขี่ยานพาหนะต่างๆ ซึ่งจะทำให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของไม้เท้าขาวสำหรับคนตาบอด แต่ความคิดนี้ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่งในปี พ.ศ.2473 เมื่อองค์กรไลออนส์สากล ในรัฐอีลีนอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกแบบไม้เท้าสำหรับคนตาบอดให้เป็นสีขาวทั้งอัน ยกเว้นในส่วนปลายที่คาดด้วยสีแดง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะได้หยุดรถเมื่อเห็นคนตาบอดที่ถือไม้นี้กำลังข้ามถนน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2474 กิลลี่ เดอเบอมอนต์ สุภาพสตรีชาวฝรั่งเศส ได้จัดการรณรงค์ระดับชาติ ว่าด้วยเรื่องไม้เท้าขาวเพื่อคนตาบอดในฝรั่งเศส ข่าวการรณรงค์ดังกล่วได้รับการนำเสนอตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับในประเทศอังกฤษ เป็นเหตุให้เกิดการรณรงค์ในลักษณะเดียวกันในประเทศอังกฤษ ภายใต้การสนับสนุนของสโมสรโรตารีทั่วประเทศ ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน บีบีซีแห่งประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดให้คนตาบอดทุกคนได้รับไม้เท้าขาว ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้จะได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนตาบอด
ย้อนกลับ